ครูอิ่ม จันทร์ชุม ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บรมครูแกะหนังตะลุงของภาคใต้” เป็นผู้เห็นคุณค่าของศิลปะพื้นบ้านด้านการแกะหนังตะลุง อันเป็นศิลปะเก่าแก่ซึ่งนับวันจะถูกลดคุณค่าและหมดความนิยมในที่สุด ครูอิ่มได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้สาธิตการแกะหนังตะลุงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้แกะหนังตะลุงฝีมือเยี่ยม นอกจากผลงานจะเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยแล้วก็ยังเป็นที่สนใจและต้องการของชาวต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากมีการติดต่อให้ครูอิ่มไปสอนการแกะสลักรูปหนังตะลุง และกนกลายไทยโดยจะให้ค่าตอบแทนเป็นมูลค่าหลายล้านบาท แต่ครูอิ่มเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาด้านการแกะหนังตะลุงที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ครูอิ่มจึงต้องการจะสืบทอดมรดกอันล้ำค่านี้ไว้ให้แก่คนไทยสืบไป

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ฝรั่งทุ่ม 5ล้าน ซื้อนักแกะไทย

เมื่อ วันที่13กันยายน พ.ศ.2523  นายลาร์ฟ บาลโฮน และน.ส.มัลเล่อร์ ซิกริด 2นักศึกษาทุนรัฐบาลเยอรมัน ได้เห็นฝีมือการแกะหนังตะลุงของนายอิ่ม จันทร์ชุม เกิดความศัทธา ถึงกับลงทุนติดต่อนายอิ่ม จันทร์ชุม ขอทุ่มเงินซื้อตัวนายอิ่ม จันทร์ชุม เป็นเงิน 5 ล้านบาท ให้เดินทางไปอยู่ประเทศเยอรมัน เพื่อแกะหนังตะลุงจำหน่ายเป็นเวลา 5ปี  แต่นายอิ่ม จันทร์ชุม กลับตอบปฏิเสธว่าไม่ต้องการถ่ายทอดการแกะหนังตะลุงให้ชาวต่างประเทศ ต้องการถ่ายทอดวิชาให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น นายอิ่ม กล่าวว่า " เงิน 5ล้านบาท ซื้อฝีมือช่างไทยไม่ได้ ศิลปะไทยต้องอยู่กับคนไทย ชาติอื่นอาจลอกเลียนแบบได้ แต่รับรองฝีมือไม่เหมือนคนไทย "

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ วันศุกร์ ที่ 19 กันยายน 2523

วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

ดาบตำรวจสำราญผู้สืบสานตำนานช่างแกะหนังเมืองพัทลุง

          ด.ต.สำราญ เดชะ เริ่มเรียนวิชาการแกะสลักหนังตะลุงครั้งแรกในปี 2520 โดยเริ่มจากการเข้าเป็นศิษย์ของบรมครูหนังตะลุงแห่งเมืองพัทลุงนามอิ่ม จันทร์ชุม ในตอนนั้น ด้วยความหัวไวบวกใจรัก เพียงเดือนเดียวด.ต.สำราญ ก็เรียนรู้วิชาการแกะรูปหนังจากครูอิ่มจน ครบถ้วน ตั้งแต่ ขั้นตอนการฟอกหนัง ร่างลวดลาย แกะ สลัก ไปจนถึงการลงสี ซึ่งในขณะนั้น ด.ต.สำราญเพียงทำไปตามความชอบส่วนตัว มิได้นึกเลยว่าสิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบ ครัวได้
          จากวันนั้นจนวันนี้ 30 ปีผ่านไป ด.ต.สำราญก็ยังคงแกะรูปหนังอยู่โดยลาออกจากงานราชการตำรวจมาแกะรูปหนังตะลุง ขายอยู่กับบ้าน และสืบทอดวิชาการแกะสลักรูปหนังที่เขารักส่งต่อไปยังคงรุ่นใหม่
          ปัจจุบัน ณ บ้านเลขที่ 733 ต.ท่ามะเดื่อ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง ทุกวันจึงระงมไปด้วยเสียงตอกหนัง และภาพคนรุ่นใหม่ที่มาเรียนวิชาแกะรูปหนังให้เห็นจนชินตา ชาวบ้านที่นี่ต่างรู้กันดีว่าบ้านหลังนี้คือแหล่งผลิตรูปหนังตะลุงคุณภาพที่ ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งใน จ.พัทลุง
          "หนังตะลุงเป็นมหรสพพื้น เมืองภาคใต้ที่มีมาแต่โบราณรูปหนัง ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการแสดงหนังตะลุง ซึ่งโดยส่วนตัวมีความชอบทางด้านนี้มาตั้งแต่ในวันเด็ก พอโตขึ้นมาโอกาสได้เข้าเรียนกับบรมครูหนังตะลุงอิ่มจันทร์ชุมได้เรียนรู้ ขั้นตอนศิลปการผลิตรูปหนังอันประณีตก็ยิ่งรู้สึกรักงานแกะสลักหนัง จนท้ายที่สุดได้ยึดเป็นอาชีพ และรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสืบทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ซึ่งก็พร้อมที่จะถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นหลังให้ได้มากที่สุด"
          ด.ต.สำราญ บอกขั้นตอนการผลิตอย่างไม่หวงวิชาว่า เริ่มจากไปรับซื้อหนังวัวสดจากตลาดในราคากิโลกรัมละ 15-20 บาท โดยต้องเลือกเอาเฉพาะหนังของลูกวัวและวัวตัวเมียเพราะว่าหนังจะไม่หนาและ แข็ง ง่ายต่อการแกะสลัก ได้หนังมาแล้วก็นำไปล้างน้ำสะอาด ขูดเศษเนื้อที่อาจมีติดมาออกให้เกลี้ยง แล้วนำหนังไปขึงกับกรอบไม้ให้ตึง ผึ่งแดดทิ้งไว้ 3 วันให้แห้งสนิทจากนั้นนำมาร่างลวดลาย และ เริ่มแกะสลัก โดยขั้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละบุคคลว่าจะทำได้ละเอียดประณีตมาก น้อยแค่ไหน ซึ่งหนังตะลุง 1 รูป ขนาดปกติ จะใช้เวลาในการแกะสลักประมาณ 1 วัน แต่หากเป็นรูปหนังขนาดใหญ่บางทีอาจต้องใช้เวลาถึง 3 วัน แล้วแต่ความยากของลวดลาย ซึ่งลวดลายที่คนนิยมมากที่สุดคือ ตัวละครในวรรณกรรม พื้นบ้านภาคใต้เช่น ไอ้เท่ง หนูนุ้ย ขวัญเมือง ไอ้ปราบ หรือลวดลายในวรรณคดีไทย เช่น หนุมาน นางฟ้า เทวดา เป็นต้น
          เมื่อ เสร็จขั้นตอนการแกะ ก็เป็นขั้นตอนการลงสีซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า หลังจากลงสีเสร็จเรียบร้อยก็เคลือบแผ่นหนังด้วยน้ำยาเคลือบเงา และติดไม้สำหรับเชิดที่ทางภาษาใต้เรียกว่า ไม้มือ ไม้ตับ และเชือกผูกสำหรับชักปากตัวละครที่เรียกว่าคันเบ็ดชักปาก เป็นอันเสร็จขั้นตอนได้รูปหนังที่สมบูรณ์
          ด้านการตลาด ในอดีตจะแกะจำหน่ายให้แก่คณะหนังตะลุง แต่ปัจจุบันคณะหนังตะลุงมีน้อยลง จึงหันมาแกะจำหน่ายเพื่อนำไปประดับตกแต่ง อาคารบ้านเรือน และจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแทน ซึ่งก็ยังคงต้องทำอย่างประณีต เพื่อที่จะขายให้ได้ราคาทุกวันนี้ ด.ต.สำราญ มีรายได้จากการขายหนังตะลุงเฉลี่ยเดือนละประมาณ 10,000 บาท โดยจะส่งงานหนังไปขายที่ตลาดอุทยานนกน้ำทะเลน้อยและแผงหน้าวัดมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช และผลิตตามสั่งจากผู้สนใจทั่วไปราคาขายมีตั้งแต่รูปหนังขนาดปกติราคา 200-600 บาท ไปจนถึงขนาดทั่วไปตามสั่ง ราคาตามแต่จะตกลงกัน
          สนใจติดต่อ ด.ต.สำราญ เดชะ
          บ้านเลขที่ 733(ชุมชนบ้านพักครู)หมู่ 6 ต.ท่ามะเดือ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง 93140
          โทรศัพท์ 0-7469-7432 มือถือ 08-3533-2581
          นายอุทัย หนูวาด ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จ.พัทลุง
          การ ทำกิจการรูปหนังตะลุงจำหน่ายของด.ต.สำราญ เดชะ นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไม่ให้สูญหายไป ตามกาลเวลาแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้ฝึกหัดเพื่อสืบทอดอาชีพช่างแกะ หนังตะลุงให้คงอยู่ต่อไป นับเป็นมรดกวิชาอันล้ำค่าที่คนรุ่นหลังควรหันมาช่วยกันอนุรักษ์และสนับสนุน ธ.ก.ส.พัทลุง ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมงานหัตถศิลป์ล้ำค่าเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป โดยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นทุนในการซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ ตลอดจนการสนับสนุนเรื่องช่องทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์


เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พิธีไหว้ครู

วันที่5 พ.ค. พรุ่งนี้ ครูอิ่มเป็นเจ้าพิธี จัดงานไหว้ครูช่างครูหนังตะลุง และทำพิธีผูกข้อมือรับเจ้าพิธืผู้นำไหว้ครูคนใหม่ ณ ศูนย์ศิลปหัตกรรมรูปหนังบางแก้ว จึงขอเชิญลูกศิษย์และผู้ที่สนใจทุกท่านเข้าร่วมพิธีเพื่อความสิริมงคล

ครูอิ่มทูลเกล้าน้อมถวายที่ดิน สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ช่างแกะหนัง เบื้องหลังหนังตะลุง



ที่มา : ข่าวสด / 20 มีนาคม 2554

ศูนย์ศิลปหัตกรรมรูปหนังบางแก้ว


ศูนย์ศิลปหัตกรรมรูปหนังบางแก้ว จัดสร้างขึ้นบนที่ดินและใช้เงินทุนของครูอิ่ม จันทร์ชุม  เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกและผลิตรูปหนังตะลุง ให้กับผู้ที่สนใจในศิลปะแขนงนี้ ศูนย์ศิลปหัตกรรมรูปหนังบางแก้วตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 142 ม.1 ต.ท่ามะเดื่อ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง 93140

ช่างแกะรูปหนังตะลุง แห่งภาคใต้



            นับเป็นเวลามากกว่าหลายสิบปี ที่ครูอิ่ม จันทร์ชุมได้ช่วยเหลือสังคมและถ่ายทอดความรู้ อุทิศแรงกาย แรงใจ โดยการเปิดสอนการแกะรูปหนังตะลุงที่บ้านให้แก่ผู้ที่มาสมัครตัวเป็นศิษย์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นผู้มีความประพฤติยึดมั่นในคุณธรรม รัก และหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นชีวิตจิตใจ จึงได้รับเชิญเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนทุกระดับชั้น ศิษย์สามารถนำความรู้ไปประกอบเป็นอาชีพหลักของครอบครัว ทั้งในพื้นที่จังหวัดพัทลุง และพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ยังเป็นผู้สาธิตการแกะสลักรูปหนังตะลุงให้กับสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพในงานสำคัญระดับภาคและระดับประเทศ  การถ่ายทอดนั้นจะเป็นการถ่ายทอดในลักษณะของการสอน การสาธิตการแกะ และการวาดทุกขั้นตอน นอกจากนี้ยังเปิดสอนแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ ชาวบ้านทั่วไปและบรรยายในหลายหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสาธิตให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจมาโดยตลอด